ประวัติความเป็นมาวัดมงคลทับคล้อ

วัดมงคลทับคล้อได้เริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏชัด แต่คาดว่านายไหมแพง และนายเม้ง หนูพิน ได้ยกที่ดินให้วัดก่อน พ.ศ.๒๔๘๕ เดิมชื่อ “วัดท่ามงคล” ต่อมาได้รับการประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒

ในระยะแรกมีเจ้าอธิการสุวรรณซึ่งย้ายมาจากวัดหนองนาดำ อำเภอเมืองพิจิตร เป็นผู้นำในการก่อสร้างและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส  และเจ้าคณะตำบลทับคล้อ  ครั้น  พ.ศ. ๒๔๘๗ เจ้าอธิการสุวรรณได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลทับคล้อ ดังนั้น พระครูพิบูลศีลสุนทร  เจ้าคณะอำเภอตะพานหิน ในขณะนั้น จึงนิมนต์ พระมหาบุญมา  ญาณวิมโล  ป.ธ.๔   (ภายหลังดำรงสมณศักดิ์    คือ   พระครูนิพัทธธรรมโกศล   พระวิมลญาณเมธี พระราชวิมลเมธี และพระเทพญาณเวที ตามลำดับ) ซึ่งย้ายมาจากวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) กรุงเทพมหานคร มาเป็น ครูสอนพระปริยัติธรรมอยู่ ณ วัดทรงธรรม ตำบลทับคล้อ อำเภอตะพานหิน (เปลี่ยนมาเป็นอำเภอทับคล้อ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐) มาเป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลทับคล้อแทน

ขณะนั้นวัดมงคลทับคล้อมีเพียงกุฏิเล็ก ๆ ๔ หลัง หลังคามุงแฝก ๑ หลัง มุงด้วยกระเบื้องไม้ ๑ หลัง และมุงสังกะสี ๒ หลัง นอกจากนี้ยังมีหอสวดมนต์กว้าง ๓ วา ยาว ๔ วา ๒ ศอก ศาลาการเปรียญกว้าง ๖ วา ยาว ๙ วา และพระอุโบสถซึ่งทำด้วยไม้ทั้งหลัง มีเสา พื้น และกระดานฝาเป็นไม้แดง หลังคามุงสังกะสี กว้าง ๑๐ ศอก ยาว ๕ วา ๒ ศอก พระมหาบุญมาปรารภว่า “ถ้าประสงค์จะดำรงค์สมณเพศให้ยาวนาน เพียงศึกษาพระธรรมอย่างเดียว ไม่ชื่อว่าศึกษาพระศาสนาได้กว้างขวาง หากแต่ได้มีการศึกษาบาลีด้วย ก็จะเป็นหนทางนำความเจริญก้าวหน้าในชีวิตแห่งสมณะและคณะสงฆ์”

ดังนั้นท่านจึงได้ประกาศตั้ง การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ โดยนิมนต์พระมหาแทน นุสิทธิ์ (ป.ธ.๖) จากวัดอนงคาราม ธนบุรี มาเป็นครูสอน และมีนักเรียนจำนวน ๑๒ รูปในปีแรก ปีต่อมามีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นจึงได้นิมนต์พระมหาเจียร นักธรรม (ป.ธ.๖) จากวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) กรุงเทพมหานคร มาเป็นครูสอนเพิ่มครั้น พ.ศ. ๒๔๙๑ มีนักเรียนสอบเป็นเปรียญได้จำนวน ๒ รูป พระมหาบุญมา ได้พยายามสนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีเป็นอย่างมาก โดยสนับสนุนหาครูและอุปกรณ์การศึกษาเพิ่มเติมตลอดมา และได้เปลี่ยนชื่อวัดท่ามงคล เป็นวัดมงคลทับคล้อ ในช่วงนี้

พ.ศ. ๒๔๙๐ มีภิกษุสามเณรเพิ่มมากขึ้น จึงได้ก่อสร้างกุฏิสงฆ์เพิ่มขึ้นอีก ๔ หลัง ได้ปรับผังวัดให้เป็นระเบียบมากขึ้น และสร้างโรงครัวเพื่อจัดภัตตาหารถวายพระภิกษุสามเณรตลอดมา

พ.ศ. ๒๔๙๑ นายอำ นางกิมหลั่น โพธิ์นคร พร้อมด้วยนางสมภวิล กังสดาลย์ ภริยาศาสตราจารย์นายแพทย์ประเสริฐ กังสดาลย์ ได้บริจาคทุนทรัพย์สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมเป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น กว้าง ๔ วา ยาว ๑๐ วา ขึ้นพร้อมทั้งอุปกรณ์การศึกษา เช่นโต๊ะ กระดานดำ แต่นักเรียนได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงขัดสนเรื่องที่พักอาศัยและภัตตาหาร ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ พระครูนิพัทธธรรมโกศล ได้ก่อสร้างศาลาการเปรียญ เป็นอาคารยกพื้นชั้นเดียว กว้าง ๘ วา ยาว ๑๖ วา หลังคามุงกระเบื้องสถาปัตยกรรมทรงไทยขึ้นหลังหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้รื้อศาลาหลังเก่าแล้วนำไม้และอุปกรณ์อื่นมาประกอบขยายศาลาหลังใหม่ให้ใหญ่และยาวขึ้นเป็นกว้าง ๑๑ วา  ยาว ๒๑ วา ปัจจุบันพระวิสุทธิวราภรณ์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้ปรับปรุงตบแต่งให้เป็นศาลา ๒ ชั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖

ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๐ มีการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พระราชวิมลเมธี (ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระวิมลญาณเมธี เมื่อปี ๒๕๐๐ และพระราชวิมลเมธี เมื่อปี ๒๕๐๙) ได้ก่อสร้างอาคารเรียนพระปริยัติธรรมหลังใหม่ขึ้น เป็นอาคาร ๓ ชั้น จำนวน ๒๑ ห้อง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๑๕.๑๕ เมตร ยาว ๔๔.๕ เมตร หลังคามุงกระเบื้องสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ โดยเหตุที่พระราชวิมลเมธี ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลีของวัดมงคลทับคล้อมีสถิติผู้ที่สามารถสอบได้สูงมากขึ้น วัดมงคลทับคล้อ จึงได้รับยกย่องเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมดีเด่น (สำนักเรียนตัวอย่าง) ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ และได้พัฒนาวัดให้เจริญทุกด้าน จนกระทั่งกรมการศาสนาได้ประการศให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างและวัดพัฒนาดีเด่นประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๘

นอกจากการสนับสนุนเรื่องการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกบาลี และนักธรรมแล้ว พระมหาบุญมายังสนับสนุนการศึกษาของประชาชนทั่วไป โดยได้อนุญาติให้ตั้งโรงเรียนผดุงวิทย์ในบริเวณวัดมงคลทับคล้อ มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ภายหลังได้ยุบ (เลิกกิจการประมาณปี ๒๕๒๐) ต่อมาจึงได้ขอบริจาคที่ดินจากผู้มีจิตศรัทธา และสร้างโรงเรียนบ้านทับคล้อขึ้น นอกจากนั้นท่านยังสนับสนุนทางด้านอุปกรณ์การศึกษาและทุนการศึกษาแก่นักเรียนทั้งประถมและมัธยมศึกษาตลอดมาอีกด้วย

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ พระเทพญาณเวที (ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เมื่อปี ๒๕๓๑ รองเจ้าคณะภาค ๔ และเจ้าอาวาสวัดมงคลทับคล้อ) ได้มรณภาพลง พระวิสุทธิวราภรณ์ (สมชาย จนฺทสาโร ปสาริกัง ป.ธ.๗) รองเจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภอตะพานหิน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสจึงได้สานต่อโดยการพัฒนาการศึกษาปริยัติธรรมให้มั่นคงขึ้น ได้พัฒนาวัดต่างๆ ทั้งสาธารณูปโภค การศึกษา การปกครองให้เป็นระบบและระเบียบยิ่งขึ้น ได้ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์และหอสมุดเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มี ๓ ชั้น ทรงกลม จตุรมุข สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป นอกจากวัดมงคลทับคล้อจะสนับสนุนเรื่องการศึกษาพระปริยัติธรรม และการพัฒนาวัดให้เป็นที่เหมาะสมแล้ว ยังได้สนับสนุนการศึกษาในการจัดส่งครูสอนพระปริยัติธรรม ครูสอนธรรมศึกษาและครูสอนวิชาพระพุทธศาสนาไปยังโรงเรียนต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมการอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน ส่งเสริมและสนับสนุนการสาธารณูปการ เช่น สนับสนุนการก่อสร้างโรงพยาบาลทับคล้อ   ส่งเสริมการก่อสร้างตึกผ่าตัดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อำเภอตะพานหิน จัดตั้งส่วนราชการในสถานที่ของวัด เช่น เป็นสถานที่จัดประชุมสมาชิก   ธกส.   สปอ. ทับคล้อ เป็นสถานที่จัดสัมมนาโครงการต่างๆ ของกรมการศาสนา เช่น โครงการครูสอนพระปริยัติธรรมอาสา เป็นต้น

สิ่งสำคัญภายในวัดมงคลทับคล้อ

วัดมงคลทับคล้อ มีเสนาสนะ และสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญ ได้แก่

พระอุโบสถ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๒ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ลักษณะสถาปัตยกรรมไทย

ศาลาการเปรียญ กว้าง ๒๓ เมตร ยาว ๕๐ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประยุกต์

กุฏิสงฆ์ จำนวน ๑๕ หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก

โรงครัว กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๒ เมตร เป็นอาคารชั้นเดียว สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก

ห้องน้ำห้องสุขา จำนวน ๖ หลัง ๘๐ ห้อง

ศาลาอเนกประสงศ์  จำนวน  ๔ หลัง

เมรุ  จำนวน  ๑ หลัง

โรงเรียนพระปริยัติธรรม จำนวน ๑ หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มี ๓ ชั้น จำนวน ๒๑ ห้อง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๑๕.๑๕ เมตร ยาว ๔๔.๕ เมตร หลังคามุงกระเบื้องสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์

พระอุโบสถ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๒ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ลักษณะสถาปัตยกรรมไทย
ศาลาการเปรียญ กว้าง ๒๓ เมตร ยาว ๕๐ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประยุกต์
ศาลาอเนกประสงศ์  จำนวน  ๔ หลัง
เมรุ  จำนวน  ๑ หลัง
โรงเรียนพระปริยัติธรรม จำนวน ๑ หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มี ๓ ชั้น จำนวน ๒๑ ห้อง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๑๕.๑๕ เมตร ยาว ๔๔.๕ เมตร หลังคามุงกระเบื้องสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์

ปูชนียวัตถุ

๑. พระพุทธมงคล พระประธานในอุโบสถ อัญเชิญมาจากวัดราชบูรณะ กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖

๒. เจดีย์บำรุงสุข ประดิษฐานพระพุทธรูปบูชา ๔ องค์

๓. อาคารพิพิธภัณฑ์และหอสมุดเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มี ๓ ชั้น ทรงกลม จัตุรมุข สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป

การศึกษา

๑. ได้จัดให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรม และแผนกบาลี โดยแต่ละปีจะมีภิกษุและสามเณรเป็นจำนวนมาก

๒. จัดส่งพระภิกษุไปสอน และอบรมศีลธรรม และวิชาพระพุทธศาสนาตามสำนักเรียน และสถานศึกษา

๓. จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษา ทั้งแผนกพระปริยัติธรรมและการศึกษาของเยาวชนทั่วไป ตลอดถึงจัดอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อนเป็นประจำทุกปี

การสาธารณสงเคราะห์

๑. สนับสนุนการสร้างโรงพยาบาลทับคล้อขนาด ๓๐ เตียง ห้องพิเศษ ๑๐ ห้อง พร้องทั้งอุปกรณ์ และเครื่องมือการแพทย์

๒. ช่วยเหลือสนับสนุนการสร้างตึกผ่าตัดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน

๓. ช่วยเหลือสนับสนุนการสร้างสำนักงานประถมศึกษาอำเภอทับคล้อ

๔. จัดตั้งกองทุนสงเคราะห์ประชาชนที่ประสบภัยต่างๆ

๕. อำนวยความสะดวกให้แก่ส่วนราชการและเอกชนในการใช้สถานที่ของวัด เช่น ใช้เป็นที่จัดประชุม อบรม สัมมนา เป็นต้น

การบริหารและการปกครอง

พระวิสุทธิวราภรณ์ เจ้าอาวาส บริหารและการปกครองวัดโดยยึดหลักพระธรรมวินัย กฎ ระเบียบ คำสั่ง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ภายใต้มหาเถรสมาคม