กรมส่งเสริมการเกษตรดันแปลงใหญ่ไม้ดอกห้วยสำราญ สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรน่าเที่ยวประจำจังหวัดอุดรธานี พร้อมบูรณาการหน่วยงานภาครัฐเสริมแรง ชูจุดแข็งชุมชนร่วมกันบริหารจัดการเอง

          ตามนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่ เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเน้นผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามนโยบายการตลาดนำการเกษตร นำไปสู่การจัดการสินค้าเกษตรสู่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน สร้างเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตรได้อย่างมั่นคงในอนาคต โดยเกษตรกรยังคงเป็นเจ้าของพื้นที่และร่วมกันดำเนินการบริหารจัดการการผลิต ตั้งแต่การร่วมกันกำหนดเป้าหมายการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุกขั้นตอน จนถึงการเชื่อมโยงตลาดกับภาคเอกชนแบบประชารัฐ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีนโยบายให้หน่วยงานในระดับพื้นที่ขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559

นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดอุดรธานี เข้าไปส่งเสริมพัฒนาต่อยอดกิจกรรมทางการเกษตรของเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ ตำบลหนองไฮ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในชุมชน โดยกลุ่มเกษตรกรดังกล่าวมีจุดเด่นในด้านการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การวางแผนการปลูกให้มีดอกไม้ทยอยออกดอกตลอดทั้งปี การจัดระบบให้บริการนักท่องเที่ยว การจัดเก็บรายได้เข้ากองทุนรวมของหมู่บ้านเพื่อบริหารจัดการในอนาคตที่ยั่งยืน การแบ่งปันรายได้ให้กับสมาชิก และทำการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับที่จะนำมาปลูกร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี กรมส่งเสริมการเกษตร ช่วยดูแลเรื่องของการขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ นอกจากนี้ จังหวัดอุดรธานี และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยังได้เข้ามาช่วยดูแลเรื่องจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้ด้วย

ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ มีพื้นที่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ จำนวน 645 ไร่ นับเป็นแหล่งปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสมาชิกจำนวน 104 ราย โดยเป็น Smart Farmer ถึง 50 ราย ซึ่งเกษตรกรแต่รายจะปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายพันธุ์ ไว้ในพื้นที่ของตนเอง ได้แก่ มะลิร้อยมาลัย 90 ไร่ เบญจมาศ 350 ไร่ ดาวเรือง 60 ไร่ ดอกพุด 25 ไร่ คัตเตอร์ (พีค็อก) 120 ไร่ กุหลาบร้อยมาลัย 1 ไร่ และไม้ตัดใบ 1 ไร่ และมีพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านที่ใช้ในการบริหารจัดการร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทร้อยมาลัยจากดอกไม้สด ได้แก่ มาลัยแต่งงาน มาลัยไหว้พระ ห่อช่อดอกไม้สด ทำพานบายศรี จัดกระเช้าดอกไม้ จัดแจกัน และการรับจ้างตกแต่งงานพิธีต่าง ๆ เป็นต้น

ในด้านการผลิตและการตลาด ทางกลุ่มมีการวางแผนการปลูกที่เป็นระบบ ทำให้มีผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ผลผลิตรวม 1,380 ตันต่อปี คิดเป็นรายได้ทั้งหมด 63.8 ล้านบาทต่อปี โดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรแต่ละรายจะมีรายได้เฉลี่ย 20,833 บาทต่อเดือน ซึ่งด้วยสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมของคนไทยที่มีการใช้ดอกไม้ในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้ในงานพิธีต่างๆ บูชาพระทุกวันพระ และใช้ประดับที่ต่างๆให้สวยงาม ทางกลุ่มจึงมีตลาดจำหน่ายทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่ ได้แก่ ตลาดในตัวเมืองจังหวัดอุดรธานีและมีพ่อค้าต่างจังหวัด เช่น จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มารับซื้อถึงประมาณ 60 % ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด ที่เหลือจะส่งมาจำหน่ายที่ปากคลองตลาด กรุงเทพมหานคร และส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

          สำหรับรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในปี 2563 (เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2563) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ มีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงเกษตร รวมทั้งสิ้น 5.28 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) รายได้จากค่าเข้าชมแปลง อัตราคนละ 20 บาท เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท 2) รายได้จากค่ารถนำนักท่องเที่ยวเข้าชมแปลง อัตราเที่ยวละ 100 บาท เป็นเงิน 0.06 ล้านบาท และ 3) ยอดจำหน่ายสินค้าผลผลิตไม้ดอกและอาหาร เป็นเงิน 4 ล้านบาท

ด้านนายเอนก รัตน์รองใต้ เกษตรจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า เดิมเกษตรกรบ้านห้วยสำราญ มีอาชีพทำนา ทำไร่มันสำปะหลัง แต่ประสบปัญหาสภาพดินขาดความอุดมสมบูรณ์ทำให้ผลผลิตต่ำ ราคาผลผลิตไม่แน่นอนเกษตรกรผู้ปลูกประสบต่อการขาดทุน เกษตรกรในหมู่บ้านได้นำเบญจมาศพันธุ์มูเซอมาปลูกครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2523  ปรากฏว่าสามารถปลูกได้ให้ผลผลิตคุณภาพดี เนื่องจากสภาพดินมีความเหมาะสม และสามารถจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นทำให้เกิดรายได้  ทำให้เกษตรกรในหมู่บ้านสนใจปลูกบ้าง แต่เป็นแบบต่างคนต่างปลูกผลผลิตออกมาจึงไม่ได้คุณภาพ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองอุดรธานี กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เข้ามารวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกบ้านห้วยสำราญเพื่อหาทางช่วยเหลือเกษตรกร โดยนำพันธุ์เบญจมาศจากต่างประเทศเข้ามาทดลองปลูกจำนวน 120 สายพันธุ์ และมีการให้ความรู้ ทั้งนำเกษตรกรไปทัศนศึกษาดูงานการปลูกไม้ดอกที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย เกษตรกรจึงนำความรู้ที่ได้รับมาปรับปรุงคุณภาพผลผลิต ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาดและทำให้เกษตรกรเกิดรายได้สามารถเป็นรายได้หลักของหมู่บ้าน  เพราะมีรายได้ให้ผลตอบแทนดีกว่าการทำการเกษตรอย่างอื่น ต่อมาในปี 2540 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองอุดรธานีได้จัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรบ้านห้วยสำราญขึ้น เพื่อเพื่อพัฒนาให้ความรู้ เกี่ยวกับการประกอบอาชีพการเกษตรในเรื่องการปลูกไม้ดอกเพื่อการค้าให้กับลูกหลานเกษตรกรในหมู่บ้านที่ว่างงาน จนได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับประเทศ และเข้ารับโล่ห์พระราชทาน 3 รางวัลในงานราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปี พ.ศ. 2545 คือ 1) กลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่น 2) สมาชิกยุวเกษตรกรดีเด่น และ3) ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่น

ในปี พ.ศ. 2560 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองอุดรธานีได้พัฒนาต่อยอดให้หมู่บ้านห้วยสำราญเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่มีการรวมกลุ่มผลิตสินค้าเกษตรตามแนวทางระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีส่วนร่วมในกระบวนการดำเนินงานที่เน้นการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตมีคุณภาพ และมีตลาดรองรับ ภายใต้การบริหารจัดการที่ดี สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันสินค้าเกษตร และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร และในปี พ.ศ.2562 ได้พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมากทำให้ชุมชนเกิดการกระจายรายได้เพิ่มขึ้น จึงขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจมาเยี่ยมชมแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานได้ทุกวัน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุดรธานี โทร. 042 244866 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองอุดรธานี โทร. 042 245123 ในวันและเวลาราชการ