กรมส่งเสริมการเกษตรสั่งการเจ้าหน้าที่คุมเข้มปราบโรคใบด่างมันสำปะหลังก่อนเข้าสู่ฤดูปลูก พร้อมให้ลงพื้นที่ย้ำเกษตรกร ไม่ใช้ท่อนพันธุ์ ที่เป็นโรคซ้ำ เด็ดขาด เฝ้าระวัง และ หมั่นสำรวจแปลงอยู่เสมอ พร้อมแนะนำให้เกษตรกรใช้พันธุ์ที่ทนต่อโรค เช่น เกษตรศาสตร์ 50 ควบคู่กับการใช้เทคนิคขยายพันธุ์แบบเร่งรัด X20

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังลงพื้นที่จังหวัดลำปาง เพื่อติดตามสถานการณ์โรคใบด่างมันสำปะหลัง และติดตามการขับเคลื่อนงานนโยบายอื่นๆ ว่าการขับเคลื่อนการปราบใบด่างมันสำปะหลัง วางไว้ 4 แนวทาง สำรวจ ชี้เป้า ทำลาย และชดเชย ซึ่งจะต้องทำ โดยรัดกุม พร้อมทั้งปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการอย่างเคร่งครัด และการทำลาย จะต้องถูกต้อง ตามหลักวิชาการ ได้แก่ 1. วิธีฝังกลบ โดยฝังกลบต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค และต้นข้างเคียงโดยรอบ ในหลุมที่ลึกไม่น้อยกว่า 50 ซม. ราดด้วยสารกำจัดวัชพืช อะมีทรีน 80% WG ซัลเฟนทราโซน 48% SC ไดยูรอน 80% WP อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน 2. วิธีใส่ถุง/กระสอบ โดยนำต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคตัดเป็นท่อนใส่ถุง / กระสอบมัดปากให้แน่นแล้วนำไปตากแดดไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือจนกว่าต้นมันสำปะหลังจะตาย 3.วิธีบดสับ โดยนำต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคเข้าเครื่องบดป่นหรือเครื่องสับย่อย โดยปูพลาสติกรองพื้นให้เศษต้นที่ถูกทำลายอยู่บนพลาสติก แล้วคลุมกองด้วยพลาสติกตากแดดให้ต้นมันสำปะหลังแห้งตาย  ปัจจุบัน สามารถทำลายพื้นที่ที่พบการระบาดได้กว่า 24,700 ไร่  (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิ.ย. 63) ใน 7 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สระแก้ว สุรินทร์ อุบลราชธานี พร้อมยังคุมเข้มอีก 53 จังหวัด ที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ยังแนะให้เกษตรกรใช้พันธุ์ที่ทนต่อโรค เช่น เกษตรศาสตร์ 50 ควบคู่กับการใช้เทคนิคการขยายพันธุ์มันสำปะหลังแบบเร่งรัด (X20) พร้อม เผย 8 ขั้นตอน ให้เกษตรกรสามารถใช้เทคนิคขยายพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค แบบเร่งรัด x20 ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 คัดเลือกมันสำปะหลัง พันธุ์ที่ทนต่อโรคใบด่าง เช่น KU 50 ขั้นตอนที่ 2 ใช้เลื่อย หรือ มีดคมๆ ตัดให้เป็นท่อนๆ โดยต้องไม่ให้ตาฉีก แต่ละท่อน 6-8 ซม. หรือ มีตาอย่างน้อย 2-3 ตา  ขั้นตอนที่ 3 นำท่อนพันธุ์แช่สารป้องกันกำจัดแมลง และสารป้องกันกำจัดเชื้อราแมนโคเซ็บ ขั้นตอนที่ 4 ผสมวัสดุปลูก ได้แก่ แกลบ ขุยมะพร้าว ปุ๋ยอินทรีย์ ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ต่อ 1 รดน้ำให้พอชื้นๆ ใส่วัสดุปลูกในถุงดำ ขนาด 3×7 นิ้ว หรือ ใช้ถาดหลุมขนาด 32 หลุม ลึก 11 ซม. ขั้นตอนที่ 5 นำท่อนพันธุ์มาปักชำในถุง ให้ลึกประมาณ 1 ใน 3 ของท่อนพันธุ์ โดยให้มีตาอย่างน้อย 1 ตาอยู่ใต้ดิน และ 1 ตาอยู่เหนือดิน ขั้นตอนที่ 6 เมื่อครบ 3 สัปดาห์ ให้ตรวจสอบดูว่ามีรากเพียงพอที่จะออกปลูก ให้นำถุงออกมาวางกลางแดด เพื่อให้ต้นปรับตัวเข้ากับสภาพกลางแจ้ง ขั้นตอนที่ 7 ครบ 4 สัปดาห์ ก่อนนำลงแปลงปลูก ให้ตัดแต่งใบล่างออก เพื่อลดการคายน้ำ นำถุงหรือถาดที่มีต้นกล้าออกมาวางแช่น้ำจนวัสดุปลูกอิ่มน้ำ ขั้นตอนสุดท้าย นำท่อนพันธุ์ลงแปลงปลูก หมั่นรดน้ำสม่ำเสมอ

“ฝากย้ำเกษตรกร ให้หมั่นสำรวจแปลง และไม่ใช้ท่อนพันธุ์ ที่เป็นโรคซ้ำ เด็ดขาด สำหรับโรคใบด่างมันสำปะหลัง สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Cassava mosaic virus ซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญ หากระบาดรุนแรงอาจทำให้ผลผลิตเสียหายได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว