โรคไหม้ข้าวเกิดจากเชื้อรา Pyricularia oryzae Cavara พบระบาดมากในนาน้ำฝน และในช่วงนี้หลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง กลางคืนมีความขึ้นสูง กลางวันอากาศร้อน ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการระบาดของโรคไหม้ข้าว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เกษตรกรปลูกข้าวหนาแน่น ทำให้อับลม ระวังการระบาดของโรคไหม้ข้าว
ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการของใบข้าวมีแผล จุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผลให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดทันที

กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
1. คลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยเชื้อราไตรโครเดอร์มาก่อนปลูก อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร ต่อ เมล็ดข้าว 500 กิโลกรัม หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไตรไซคลาโซล อัตรตามคำแนะนำในฉลาก

2. หว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสม 15 – 20 กิโลกรัมต่อไร่ ควรแบ่งแปลงให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี

3. ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลง วิธีนี้อจมีผลกระทบต่อผลผลิตบ้าง แต่จะช่วยไม่ให้ข้าวอ่อนแอต่อโรค

4. สำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบอาการของโรคไหม้ข้าวควรปฏิบัติ ดังนี้
– พ่นเชื้อบีเอส (บาซิลลัส ซับที่สิส) อัตราตามคำแนะนำในฉลาก
– พ่นเชื้อไตรโครเดอร์มา อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร

5. ถ้ามีความจำเป็นให้ใช้สารเคมีพ่น กรณีแหล่งที่เคยมีโรคระบาดและพบแผลโรคไหม้ทั่วไปร้อยละ 50 ของพื้นที่ใบ ควรพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา สารเคมีที่แนะนำ คือ
ไตรไซคราโซล หรือ ไอโซโพรไทโอเลน ตามอัตราที่ระบุในฉลาก

          การใช้สารเคมีพ่นซ้ำกันหลายครั้ง เชื้อราจะต้านทานสารเคมีหรือดื้อยา ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราต้านทานสารเคมี จึงควรเลือกใช้สารเคมีบางชนิดพ่นสลับกัน ทั้งนี้ในการใช้สารเคมีควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงความปลอดภัยต่อตัวผู้ใช้และสภาพแวดล้อม

ที่มา กลุ่มพัฒนาสื่อส่งเสริมการเกษตร สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมส่งเสริมการเกษตร
ข้อมูล กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย