กรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ในพื้นที่ปลูกพืช ประกอบกับหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด มีพืชอาหารมากกว่า ๘o ชนิด จึงขอแนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและพืชอาศัยหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำที่ถูกต้อง

นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการติดตามรายงานสถานการณ์การระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดของกรมส่งเสริมการเกษตรพบการระบาดของศัตรูพืชชนิดดังกล่าวในนาข้าวพื้นที่ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด กรมส่งเสริมการเกษตรมีข้อสังการให้จังหวัดทุกจังหวัดสำรวจ เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ของหนอนกระทู้ลายจุดในพื้นที่ปลูกข้าวโพด ข้าว อ้อย และพืชอาหารชนิดอื่นๆ เช่น ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ฝ้าย ทานตะวัน ถั่วเหลือง หญ้า และพืชผักชนิดต่างๆ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้เรื่องหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อพบการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดในพื้นที่ และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอพร้อมเผยแพร่คำแนะนำในการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น

หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด Spodoptera frugiperda (Fall Armyworm) ตัวเต็มวัยเป็นหนอนผีเสื้อกลางคืนมีวงจรชีวิตประมาณ ใช้เวลา 30-40 วัน เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ผีเสื้อให้สังเกตเพศเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยวางไข่เป็นกลุ่มประมาณ 100-200 ฟอง มีขนปกคลุมไข่ ผีเสื้อเพศเมียหนึ่งตัววางไข่ได้ประมาณ 1,500 – 2,000 ฟอง ระยะไข่ 2-3 วัน หนอนมี 6 วัย ระยะหนอน 14 – 22 วัน หนอนที่โตเต็มที่ มีขนาดลำตัวยาว 3.2-4 เซนติเมตร จะทิ้งตัวลงดินเพื่อเข้าดักแด้ ระยะดักแด้ 7- 13 วัน จึงเป็นตัวเต็มวัยมีชีวิต 10-21 วัน ตัวเต็มวัยบินได้ไกล เฉลี่ย 100 กิโลเมตรต่อคืน ลักษณะเด่นของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด มีส่วนบนของหัวเป็นแถบสีขาวรูปตัว Y หัวกลับ ด้านข้างและหลังมีแถบสีขาวตามยาวของลำตัว ปล้องท้องก่อนปล้องสุดท้ายมีจุดสีดำ 4 จุด

หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด มีพืชอาหารมากกว่า 80 ชนิด ซึ่งนอกจากข้าวโพดแล้วยังมีพืชอาศัยที่เป็นแหล่งอาหาร เช่น ข้าว ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี อ้อย ฝ้าย ทานตะวัน ถั่วเหลือง หญ้า และพืชผัก อีกหลายชนิด การเข้าทำลายพืชส่วนใหญ่จะพบในข้าวโพด จะเกิดขึ้นในระยะที่เป็นตัวหนอนเท่านั้น หนอนจะระบาดทำลายข้าวโพดตั้งแต่อายุประมาณ 7 วัน จนกระทั่งออกฝัก โดยกัดกินยอดและใบข้าวโพดแหว่งหรือกัดกินทั้งแผ่นใบและจะพบตัวหนอนหลบซ่อนแสงอยู่ที่ยอด หรือโคนกาบใบข้าวโพด โดยหนอนวัย 3-6 เป็นระยะที่ทำความเสียหายมาก โดยกัดกินอยู่ในยอดข้าวโพด ระยะก่อนที่ดอกตัวผู้จะโผล่ หนอนจะกัดกินเกสรตัวผู้ หลังจากใบยอดคลี่ทั้งหมด ดอกตัวผู้โผล่ หนอนจะย้ายไปกัดกินไหม และเจาะเปลือกหุ้มฝักเข้าไปกัดกินภายในฝัก หากระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตเสียหายประมาณ 70% ของพื้นที่ การเข้าทำลายในข้าว พบในสภาพแปลงนาหว่าน รอฝนไม่มีน้ำขังติดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเดิม ข้าวมีอายุ 20-25 วัน ลักษณะการทำลายคือ กัดกินใบอ่อน แล้วเข้าไปหลบอยู่ซอกดิน ใต้ดิน ใต้เศษตอซัง พบดักแด้หนอนในดิน การเข้าทำลายในอ้อยพบหนอน กัดกินอยู่ในยอดอ้อย ทำให้ใบขาดเป็นรู เว้าแหว่ง ยอดกุด และจะพบตัวหนอนหลบซ่อนแสงอยู่ที่ยอดหรือโคนกาบอ้อย

จึงขอแนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดควรหมั่นสำรวจแปลงหลังจากข้าวโพดงอก สังเกตกลุ่มไข่ และรอยทำลายสีขาวที่ผิวใบ เมื่อพบการเข้าทำลายข้าวโพด ข้าว อ้อยและพืชอาหารชนิดอื่นๆ  ให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัดในพื้นที่ และให้ทุกจังหวัดรายงานสถานการณ์การระบาดให้กองส่งเสริมอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ยทราบทาง E-mail : Bio53@gmail.com เพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป นายทวี มาสขาว กล่าว