แมลงวันทอง จัดว่าเป็นศัตรูที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลิตผลไม้ประเทศไทย และเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการส่งผลไม้ออกสู่ตลาดต่างประเทศ

รูปร่างลักษณะ
            เป็นแมลงขนาดเล็ก ส่วนหัว อก และท้องมีสีน้ำตาลอ่อน ที่ด้านหลังตรงส่วนอกมีแถบสีเหลืองทองใกล้ๆ กับโคนปีกทั้งสองข้าง ส่วนอกกว้าง 2 มิลลิเมตร ส่วนท้องกว้าง 3 มิลลิเมตร ปีกใส จากปลายปีกข้างหนึ่งไปยังปลายปีกอีกข้างหนึ่งกว้าง 15 มิลลิเมตร หลังการผสมพันธุ์ ตัวเมียจะวางไข่โดยใช้อวัยวะวางไข่ (ovipositor) แทงลงใต้ผิวผลไม้ ไข่มีลักษณะยาวรี ระยะไข่ 2-4 วัน เมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ๆ ตัวหนอนมีสีขาวใส เมื่อโตเต็มที่มีขนาด 8-10 มิลลิเมตร ระยะหนอน 7-8 วัน เมื่อเข้าดักแด้เริ่มแรกมีสีนวลหรือเหลืองอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ระยะดักแด้ 7-9 วัน แล้วจึงออกเป็นตัวเต็มวัย เมื่อตัวเต็มวัยอายุประมาณ 12-14 วัน จะเริ่มผสมพันธ์และวางไข่ ตัวเมียมีการผสมพันธุ์กับตัวผู้หลายครั้ง ตัวเมียตัวหนึ่งๆ สามารถวางไข่ได้ประมาณ 1,300 ฟอง วงจรชีวิตใช้เวลา ประมาณ 3-4 สัปดาห์

ลักษณะการทำลาย
            ความเสียหายของแมลงวันผลไม้มักจะเกิดขึ้นเมื่อเพศเมียใช้อวัยวะวางไข่ (ovipositor) แทงเข้าไปในผลไม้ ตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะอาศัยและชอนไชอยู่ภายใน ทำให้ผลเน่าเสียและร่วงหล่นลงพื้น ตัวหนอนจะออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดินแล้วจึงออกเป็นตัวเต็มวัย แมลงวันผลไม้วางไข่ในผลไม้ที่ใกล้สุกและมีเปลือกบาง ในระยะเริ่มแรกจะสังเกตได้ยากอาจพบอาการช้ำบริเวณใต้ผิวเปลือก เมื่อหนอนโตขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ผลเน่าเละและมีน้ำไหลเยิ้มออกทางรูที่หนอนเจาะออกมาเพื่อเข้าดักแด้ ผลไม้ที่ถูกทำลายนี้มักจะมีโรคและแมลงชนิดอื่น ๆ เข้าทำลายซ้ำ ดังนั้นความเสียหายที่เกิดกับผลผลิตโดยตรงนี้จึงมีมูลค่ามหาศาล ก่อให้เกิดปัญหาต่อเศรษฐกิจในระดับชาติเป็นอันมาก
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
          1. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุกสัปดาห์
          2. การทำความสะอาดบริเวณแปลงเพาะปลูก แมลงวันผลไม้สามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้อย่างรวดเร็วในขณะที่มีพืชอาศัยอยู่มาก โดยการรวบรวมทำลายผลไม้ที่เน่าเสียอันเนื่องมาจากถูกแมลงวันผลไม้เข้าทำลาย สามารถหยุดยั้งการเพิ่มจำนวนของประชากรอย่างรวดเร็วของแมลงได้
          3. การห่อผลไม้ เป็นการป้องกันการเข้าไปวางไข่ในผลไม้ที่ง่ายและได้ผลดีที่สุดวิธีหนึ่งอีกทั้งยังเป็นวิธีการที่ปลอดภัยจากการใช้สารฆ่าแมลง การห่อผลไม้นี้ควรจะห่อให้มิดชิดไม่ให้มีรูหรือรอยฉีกขาดเกิดขึ้น มิฉะนั้นแมลงจะเข้าไปวางไข่ได้
          4. การใช้สารล่อ
             4.1 การใช้สารล่อแมลงวันผลไม้ตัวผู้  สารล่อที่ใช้ขึ้นอยู่กับชนิดของแมลงวันผลไม้ สารเมทธิลยูจินอลใช้กับแมลงวันผลไม้ชนิด B. dorsalis และ B. correcta โดยผสมกับสารเคมีกำจัดแมลงและไซลีน อัตราส่วน 75 : 20 : 5   (โดยปริมาตร) เมื่อผสมสารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ใช้วัสดุที่ดูดซับของเหลวได้ดีและคงทนอยู่ได้นานจุ่มลงในสารผสม โดยทั่วไปนิยมใช้กาบมะพร้าวหรือแผ่นชานอ้อย ตัดเป็นสี่เหลี่ยมขนาด 4.5 x 4.5 เซนติเมตร จุ่มลงไปในสารผสมให้ดูดซับสารผสมไว้ในวัสดุจนชุ่ม ทั้งนี้ เวลาที่ใช้ในการจุ่มขึ้นกับชนิดวัสดุที่ใช้ หรือถ้าต้องการให้เกษตรกรเห็นผลของการลดประชากรแมลงวันผลไม้เพศผู้จากจำนวนแมลงที่ตายก็สามารถทำได้ โดยใช้ขวดพลาสติกขนาดต่างๆ (ขนาด 1-2 ลิตร จะใช้งานได้ดี) นำมาเจาะรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.3 เซนติเมตร รอบๆ ขวด ให้ห่างจากคอขวดประมาณ 1/4 ของความสูงขวด จากนั้นใช้ไส้ตะเกียงขนาดใหญ่ตัดให้มีขนาดยาว 1-1.5 นิ้ว (แต่ต้องสั้นกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางขวด เพื่อไม่ให้สารสัมผัสกับผนังขวดพลาสติก) ผูกด้วยลวด นำไปแขวนในขวดพลาสติกโดยให้ไส้ตะเกียงที่ชุ่มสารล่อห้อยห่างจากปากขวดในระดับเดียวกับรูที่เจาะไว้ จากนั้นนำแผ่นล่อหรือขวดล่อไปแขวนเป็นระยะห่างกัน 50 เมตร
             4.2 ลดประชากรแมลงวันผลไม้เพศเมียและเพศผู้โดยใช้เหยื่อพิษ ส่วนผสมของเหยื่อพิษ มีโปรตีนไฮโดรไลเสท 4 ส่วน  มาลาไธออน (50%) 1 ส่วน ผสมให้เข้ากันแล้วเติมน้ำลงไป 95 ส่วน คนให้เข้ากัน นิยมใช้กัน 2 รูปแบบ คือ แบบพ่นเป็นจุด 2-4 จุดต่อต้น อัตรา 150-350 ซีซีต่อต้น ขึ้นกับขนาดของต้น โดยใช้หัวพ่นที่มีขนาดหยดใหญ่ 4-6 มิลลิเมตร หรือประมาณ 80 หยดต่อตารางเมตร และใช้เป็นกับดักเหยื่อพิษ ใช้ได้ทั่วไปและจะได้ผลดีเมื่อนำไปแขวนไว้ใกล้ผลไม้
          5. การทำหมันแมลง จุดมุ่งหมายของวิธีการนี้คือ การกำจัดแมลงให้หมดไปจากพื้นที่ที่ต้องการ ซึ่งจะต้องมีการเลี้ยงแมลงวันผลไม้ให้มีปริมาณมาก แล้วทำหมันแมลงเหล่านี้โดยการฉายรังสีแกมมา จากนั้นจึงนำแมลงที่เป็นหมันนี้ไปปล่อยในธรรมชาติ เพื่อลดปริมาณแมลงในธรรมชาติจนหมดไป แต่การกระทำด้วยวิธีนี้จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงมากและก็ยังมีข้อจำกัดอื่นๆ อีกที่จะต้องคำนึงถึง เช่นการป้องกันการแพร่ระบาดเข้ามาใหม่ของแมลงและการที่แมลงศัตรูชนิดอื่นจะเพิ่มความสำคัญขึ้นมา
          6. การกำจัดหนอนแมลงวันผลไม้ในผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว ส่วนมากระยะของผลไม้ที่เราเก็บเกี่ยวนั้นอยู่ในระยะแก่จัด ซึ่งอาจมีแมลงวันผลไม้วางไข่อยู่ หรือมีหนอนในวัยต้น ๆ ที่ยังไม่เห็นการทำลายอย่างเด่นชัดแฝงตัวอยู่ ฉะนั้นเพื่อเป็นการกำจัดไข่หรือหนอนที่ติดมาในผลไม้ จึงมีวิธีการกำจัดดังนี้
             6.1 การรมยา โดยการใช้สารรม (Fumigant) บางตัวเข้ามารมแมลง เช่น เมทิลโบรไมด์ (Methyl Bromide) เป็นต้น
             6.2 การใช้รังสี โดยการให้ผลไม้นั้นได้รับการฉายรังสีแกมมา
             6.3 การใช้วิธีการอบไอน้ำร้อน เป็นวิธีการที่ใช้อยู่เป็นการค้าในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ฮาวาย ไต้หวัน สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และประเทศไทย