เชื้อราไตรโคเดอร์มา  เป็นเชื้อราชั้นสูงเจริญได้ดีในดินที่มีเศษซากพืช ซากของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และวัสดุอินทรีย์ตามธรรมชาติ เชื้อราไตรโคเดอร์มา สามารถควบคุมโรคพืชในดินได้หลายชนิด เช่น

เชื้อราไฟทอฟเทอรา (Phytophthora spp.) สาเหตุโรครากโคนเเน่า  

เชื้อราพิเทียม (Pythium spp.) สาเหตุโรคเมล็ดเน่า  โรคโคนเน่าระดับดิน 

เชื้อราฟิวซาเรียม (Fusarium spp.) สาเหตุโรคโรคเหี่ยว 

เชื้อราสเคลอโรเทียม (Sclerotium spp.) สาเหตุของโรคโคนเน่า โรคเหี่ยวของผัก 

เชื้อราไรซ็อกโทเนีย (Rhizoctonia solani) สาเหตุโรคเน่าระดับดินของพืชผัก  โรคใบติดของทุเรียน โรคกาบใบแห้งของข้าว 

วัสดุอุปกรณ์

  1. หม้อหุงข้าวไฟฟ้า
  2. ข้าวสาร
  3. น้ำสะอาด
  4. ยางวง
  5. เข็มหมุด
  6. หัวเชื้อราไตรโคเดอร์มา
  7. ถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 8 x 12 นิ้ว
  8. ตะเกียงแอลกอฮอล์
  9. แอลกอฮอล์ 70%

วิธีการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา

  1. หุงข้าวใช้ข้าวสาร 3 ส่วน และน้ำ 2 ส่วน กดสวิตซ์ จากนั้นเมื่อหม้อข้าวดีดให้ถอดปลั๊กทันที จะได้ข้าวกึ่งสุกกึ่งดิบ ลักษณะเมล็ดข้าวข้างนอกเมล็ดปริ ส่วนข้างในเป็นไตสีขาว ซุยข้าวให้เมล็ดข้าวร่วน หรือใช้ลังถึงนึ่ง โดยการแช่ข้าว 30 นาที และผึ่งข้าว 30 นาที จากนั้นนึ่งโดยนับจากหลังน้ำเดือนไม่น้อยกว่า 30 นาที
  2. ตักข้าวใส่ถุง ขณะยังร้อน ถุงละ ½ กิโลกรัมพับปากถุงลงด้านล่าง ทิ้งไว้ให้ข้าวอุ่น
  3. ใส่หัวเชื้อไตรโคเดอร์มา หากเป็นหัวเชื้อน้ำ ใช้ประมาณ 5 หยด หรือเป็นหัวเชื้อแห้ง ใช้ 4 – 5 เหยาะ
  4. รัดยางตรงปากถุงให้แน่นโดยให้มีพื้นที่ว่างในถุงมากกว่าพื้นที่ใส่ข้าว
  5. เขย่าหัวเชื้อให้กระจายทั่วเมล็ดข้าว
  6. เจาะรูใต้ยางที่มัดถุง โดยใช้เข็มสะอาดเจาะประมาณ 30 รู
  7. วางถุงข้าวในลักษณะแบนราบให้ข้าวแผ่กระจายทั่วถุง และไม่วางถุงข้าวซ้อนทับกัน ควรวางบริเวณที่มีแสงสว่าง อากาศถ่ายเท ไม่มีมดและสัตว์อื่น ๆ ประมาณ 5 – 7 วันเชื้อราจะเจริญปกคลุมเมล็ดข้าว

หมายเหตุ ในการผลิตขยายทุกขั้นตอนควรทำความสะอาดโต๊ะและอุปกรณ์ด้วยแอลกอฮอล์ 70 % และผู้ปฏิบัติงานควรฉีดพ่นแอลกอฮอล์ 70% ทุกครั้งก่อนทำการผลิตขยาย

ที่มา กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย