กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในช่วงนี้เป็นช่วงที่ข้าวกำลังออกรวง แนะให้เกษตรกรหมั่นลงพื้นที่เพื่อสำรวจแปลง เพื่อป้องกันโรคไหม้ข้าว ระยะคอรวง ซึ่งโรคไหม้ข้าวสามารถพบได้ในหลายช่วงอายุของการปลูกข้าวตั้งแต่ระยะกล้า ระยะแตกกอ ไปจนถึงระยะออกรวง การระบาดของโรคพบได้ในสภาพแปลงนาที่มีต้นข้าวหนาแน่น อับลม แปลงนาที่ใส่ปุ๋ยอัตราสูง สภาพอากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีชื้นสูงในตอนกลางคืน กระแสลมแรงจะเป็นตัวช่วยในการแพร่กระจายโรคได้ดี โดยลักษณะอาการในแต่ละระยะการเจริญเติบโตมีลักษณะ ดังนี้

ระยะกล้า ใบมีแผล จุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล ความกว้างของแผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และความยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าอาการของโรครุนแรงต้นกล้าจะแห้งฟุบตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้

ระยะแตกกอ อาการพบได้ที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลจะใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า แผลลุกลามติดต่อกันได้ที่บริเวณข้อต่อ ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดจากกาบใบเสมอ

ระยะออกรวง (โรคไหม้คอรวง) ถ้าข้าวเพิ่งจะเริ่มให้รวงเมื่อถูกเชื้อราเข้าทำลาย เมล็ดจะลีบ แต่ถ้าเป็นโรคตอน รวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวง ทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่นเสียหายปริมาณมาก ยิ่งในช่วงนี้ทุกภาคของประเทศไทยมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับข้าวอยู่ในระยะออกรวงจึงอาจทำให้การระบาดของโรคไหม้ข้าวระยะคอรวงเพิ่มมากขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

วิธีการป้องกันกำจัดโรคไหม้ข้าว ดังนี้

1. สำรวจแปลงนา อย่างสม่ำเสมอถ้าพบอาการของโรคไหม้ข้าวควรปฏิบัติ ดังนี้

          – พ่นเชื้อบีเอส (บาซิลลัส ซับทีลิส) อัตราตามคำแนะนำในฉลาก

          – พ่นเชื้อไตรโครเดอร์มาอัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร

2. ถ้ามีความจำเป็นให้ใช้สารเคมีพ่นเฉพาะบริเวณที่พบการระบาดเพื่อควบคุมไม่ให้เชื้อราแพร่กระจายขยายเป็นวงกว้างสารเคมีที่แนะนำมี ดังนี้

          – อิดิเฟนฟอส 50 เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา 20-25 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร

          – บลาสติซิดิน -เอส 2 เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา 20-25 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร

          – ไตรไซคลาโซล 75 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 10-16 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร

          ควรพ่นในแปลงข้าวที่มีประวัติว่าเคยมีโรคระบาดมาก่อน การใช้สารเคมีพ่นซ้ำกันหลายครั้งเชื้อราจะต้านทานสารเคมีหรือดื้อยา ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราต้านทานสารเคมี จึงควรเลือกใช้สารเคมีบางชนิดพ่นสลับกัน ทั้งนี้ ในการใช้สารเคมีควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงความปลอดภัยต่อตัวผู้ใช้และสภาพแวดล้อม

 

ในฤดูถัดไป

1. ใช้พันธุ์ต้านทานต่อโรคไหม้ เช่น พันธุ์กข5 กข11 กข27 กข๓๓ (หอมอุบล80) กข37 กข41 กข43 กข47 ชัยนาท1 สันป่าตอง1 สุพรรณบุรี1 สุพรรณบุรี2 สุพรรณบุรี3 สุพรรณบุรี60 สุพรรณบุรี90 คลองหลวง1 ปทุมธานี1 หรือ พันธุ์พิษณุโลก60-2

2. ใช้เชื้อไตรโครเดอร์มาที่เจริญบนเมล็ดธัญพืชขยำเอาสปอร์ออกคลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวนำไปแช่บ่มเตรียมการปลูก อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร ต่อเมล็ดข้าว 500 กิโลกรัม หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไตรไซคลาโซล คาซูกาไมซิน คาร์เบนดาซิม โพรคลอราซ อัตราตามคำแนะนำในฉลาก

3. หว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสม 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ ควรแบ่งแปลงให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี

4. ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลง วิธีนี้อาจมีผลกระทบต่อผลผลิตบ้างแต่จะช่วยไม่ให้ข้าวอ่อนแอต่อโรค

 

*** หากเกษตรกรท่านใด พบการระบาดของโรคไหม้ข้าวในพื้นที่ โปรดแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน เพื่อร่วมป้องกันและกำจัดได้ทันที ***