กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวทุกภาคของประเทศไทย ช่วงนี้เป็นช่วงที่กลางวัน
มีสภาพอากาศร้อน และแห้งแล้ง เหมาะสมต่อการระบาดของไรสี่ขามะพร้าว หากเกษตรกรพบว่าผลมะพร้าว
มีอาการ เป็นแผลแห้งสีน้ำตาลเป็นทางยาว ปลายแผลเป็นมุมแหลม โดยเฉพาะบริเวณขั้วผลอ่อน ให้รีบแจ้ง
หรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน เพื่อหาแนวทางควบคุม และป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง เนื่องจากไรชนิดนี้สามารถเป็นพาหะนำโรคไวรัส ไวรอยด์ และสามารถเข้าทำลายพืชที่สำคัญชนิดอื่น ๆ ได้หลายชนิด

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ไรสี่ขามะพร้าว เป็นศัตรูที่สำคัญของมะพร้าว สร้างความเสียหายต่อคุณภาพและผลผลิต โดยอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยง อยู่ใต้กลีบเลี้ยงของผล
ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ต้องมองผ่านกล้อง ที่มีกำลังขยายสูงเท่านั้น ทั้งนี้ ไรสี่ขาจะเริ่มเข้าทำลายผลมะพร้าวตั้งแต่ผลขนาดเล็ก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 – 25 เซนติเมตร เมื่อเข้าทำลาย จะทำให้มะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต หลุดร่วงและผลผลิตเสียหาย ลักษณะเป็นแผลร่องลึก แตกเป็นริ้วเหมือนเปลือกไม้
มีสีน้ำตาลชัดเจน ปลายแผลแหลมและเป็นแผลโดยรอบหรือเกือบโดยรอบของผล ผลขนาดเล็ก ที่ถูกไรเข้าทำลายแผลจะมีขนาดเล็ก เมื่อผลมีขนาดใหญ่ขึ้นแผลก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นตามขนาดของผล ไรชนิดนี้เข้าทำลายผลเกือบทุกผลในทะลาย ทำให้ผลมีขนาดเล็กลงอย่างชัดเจน ขนาดไม่ตรงตามความต้องการของตลาด  ถ้าระบาดรุนแรงในผลจะร่วงหล่นเสียหาย และผลที่ไม่ร่วงจะเล็กลีบ ไม่ได้ขนาดจนไม่สามารถจำหน่ายได้เลย

สำหรับการป้องกันกำจัดไรสี่ขามะพร้าว กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำเกษตรกร ดังนี้  1. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งหากพบรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ 2. ป้องกันกำจัดโดยใช้วิธีผสมผสาน โดยตัดทำลายจั่น ช่อดอก และช่อผลของมะพร้าวทั้งหมดจนกว่าจะไม่พบอาการลูกลาย แล้วนำไปจัดการด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น นำไปฝังกลบโดยให้มีหน้าดินลึกประมาณ 50 เซนติเมตร หรือ ใส่ถุงพลาสติกดำ นำไปตากแดดไว้อย่างน้อย 1 สัปดาห์ เป็นต้น  นอกจากนี้ ไรสี่ขามะพร้าวสามารถแพร่กระจายโดยอาศัยลมพัดพา ดังนั้นควรปลูกต้นไม้ เพื่อลดการแพร่กระจายของไรสี่ขามะพร้าว ใช้สารเคมีพ่นกำจัดไรสี่ขามะพร้าว หลังตัดผลหรือช่อดอกทุกครั้งจนกว่าจะไม่พบอาการเข้าทำลาย อย่างน้อย 4 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์ โดยหมุนเวียนเปลี่ยนกลุ่มสารฉีดพ่นกลุ่มละ 2 ครั้ง แล้วสลับไปพ่นสารกำจัดไรชนิดอื่นตามกลุ่มสารออกฤทธิ์

***************************

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ; ธันวาคม 2563

ข้อมูล: กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร