เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เข้าร่วมประชุมเชื่อมโยงการดำเนินงานคณะกรรมการเครือข่าย ศพก. และแปลงใหญ่ ระดับประเทศ ครั้งที่ 2/2563 ณ สำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัย อ.เมือง จ.สุโขทัย เพื่อปูทางขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมลุยส่งเสริมติวเข้มแปลงใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการใหม่ให้มีความเข้มแข็งยึดหลักตลาดนำการผลิต พัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร พร้อมแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฤดูแล้งในพื้นที่แปลงใหญ่
กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ความสำคัญกับนโยบายกระทรวงฯ โดยยึดเป็นภารกิจหลักที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ ซึ่งประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 7 ประเด็น คือ 1) การจัดสัมมนามาตรฐานสินค้าเกษตรให้กับศพก. และแปลงใหญ่ ซึ่งมีกำหนดจัดอบรมภายใต้โครงการ Q อาสา ร่วมกับ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ในปีงบประมาณ 2563 ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ การฝึกอบรมสร้างการรับรู้ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรให้แก่ประธานศพก. และเครือข่ายและผู้นำกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่จำนวน 9 เขต เขตละ 900 คน และ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Q อาสาด้านมาตรฐาน GAP พืชอาหารให้แก่ประธานศพก. และเครือข่ายและผู้นำกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ และมีความสนใจในการเป็น Q อาสาจำนวน 3 รุ่น รุ่นละ 50 คน 2) การสัมมนาโครงการพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้จัดการแปลงใหญ่ โดยกรมฯ กำหนดจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้จัดการแปลงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2563 จำนวน 11 รุ่น จำนวนรวม 1,745 คน ประกอบด้วย ผู้จัดการแปลง ผู้จัด และวิทยากร 3) การสรุปผลการจ่ายสินเชื่อโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยอนุมัติสินเชื่อแล้ว 327 แปลง 4) แนวทางการประกวดแปลงใหญ่ ปีงบประมาณ 2563 5) การส่งเสริมปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเขียว) โครงการนี้มีเป้าหมายเกษตรกรจำนวน 150,000 ครัวเรือน พื้นที่ 1.4 ล้านไร่ 6) โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำ เพื่อสนับสนุนโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยการเพิ่มน้ำต้นทุนเกษตรแปลงใหญ่ (ปศุสัตว์แปลงใหญ่) ด้วยระบบกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ อัตราสูบประมาณ 90 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ จำนวน 620 แห่ง และ เพิ่มน้ำต้นทุนเกษตรแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) ด้วยระบบกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์อัตราสูบประมาณ 20 – 40 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ จำนวน 80 แห่ง พร้อมระบบกระจายน้ำ โดยความก้าวหน้าของโครงการนี้อยู่ในขั้นตอนสำรวจและดำเนินการจัดทำแบบ เพื่อดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลสำหรับแปลงใหญ่ที่เหลือทั้งหมด 7) สถานการณ์และมาตรการรับมือภัยแล้ง โดยกรมฯ มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในสถานการณ์ฤดูแล้ง ปี 2562/63 โดยมีกิจกรรมการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ “เกษตรกรร่วมใจรับมือภัยแล้ง ปี 2563” เป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ในทุกด้านเพื่อรับมือภัยแล้ง การนำเสนอกรณีตัวอย่างเกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับภัยแล้ง และการเผยแพร่ตามช่องทางสื่อต่างๆ และนำไปใช้การสร้างสื่อให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลและบริการของรัฐ รวมทั้งมีข้อมูลในการปฏิบัติสำหรับการรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง