นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงสภาพแวดล้อมที่ร้อนสลับกับฝนในขณะนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรขอให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชผัก หมั่นลงสำรวจแปลง เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของหนอนกระทู้หอม

          หนอนกระทู้หอม (Spodoptera exigua Hubner) มีลักษณะลำตัวสีเขียวอ่อน ครีม น้ำตาลอ่อน ไม่มีขน ขนาด 2.5 – 3 เซนติเมตร ด้านข้างมีแถบสีขาวพาดตามความยาวของลำตัว ผีเสื้อหนอนกระทู้หอมเป็นผีเสื้อกลางคืน สีน้ำตาล เพศเมียวางไข่เป็นกลุ่ม ๆ ละประมาณ 10 – 20 ฟอง มีขนสีน้ำตาลปกคลุม หนอนเข้าดักแด้ในดิน หนอนกระทู้หอมเป็นศัตรูพืชที่สำคัญในการเข้าทำลายพืชผักหลายชนิด ได้แก่ หอมแบ่ง หอมแดง หอมหัวใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง พริก ถั่วฝักยาว มันเทศ ผักตระกูลกะหล่ำ แตงโม องุ่น กล้วยไม้ ดาวเรือง กุหลาบ เบญจมาศ ถั่วเขียว และมันฝรั่ง  โดยระบาดมากในแหล่งที่มีการปลูกอย่างต่อเนื่องประจำ เช่น จังหวัดราชบุรี กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ปทุมธานี กาญจนบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่ปลูกหอมที่สำคัญ เช่น จังหวัดศรีสะเกษ นครราชสีมา และจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแหล่งปลูกผักดังกล่าวมีการระบาดของหนอนกระทู้หอมเป็นประจำ เนื่องจากช่วงนี้สภาพอากาศร้อน ฝนตกน้อยลงหรือฝนทิ้งช่วงระยะเวลานาน ซึ่งเหมาะต่อการระบาดของหนอนกระทู้หอม ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ

          วิธีการกำจัดหนอนกระทู้หอมโดยเชื้อไวรัสเอ็นพีวี ให้ใช้ในอัตรา 10 – 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ความถี่ในการพ่นขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงในการระบาด นอกจากนี้ วิธีการฉีดพ่นควรฉีดพ่นช่วงเวลาเย็น ผสมสารจับใบ ช่วยให้เชื้อไวรัสเอ็นพีวีเกาะติดใบได้ดีขึ้น ควรใช้หัวสเปรย์แบบฝอยเพื่อประสิทธิภาพ ในการฉีดพ่นที่ดีขึ้น และควรเก็บรักษาขวดหรือภาชนะบรรจุเชื้อไวรัสเอ็นพีวีในอุณหภูมิที่เย็นและให้พ้นจากแสงแดด 

          โดยข้อดีของการใช้เชื้อไวรัสเอ็นพีวีนั้น จะปลอดภัยต่อมนุษย์  สัตว์  และสภาพแวดล้อม เพราะเชื้อไวรัสเอ็นพีวีทำลายเฉพาะเจาะจงกับแมลงศัตรูพืชเป้าหมาย โดยในประเทศไทยมีไวรัสเอ็นพีวีจำเพาะกับหนอน 3 ชนิด ได้แก่ หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก และหนอนเจาะสมอฝ้าย และเมื่อมีการใช้ไปได้ระยะหนึ่งเชื้อไวรัสเอ็นพีวีจะแพร่ขยายและเข้าทำลายศัตรูพืชเป้าหมาย จนไม่สามารถเพิ่มปริมาณเข้าทำความเสียหายกับพืชในพื้นที่นั้นได้อีก และที่สำคัญ การใช้เชื้อไวรัสเอ็นพีวีต้องเลือกใช้ให้ตรงกับชนิดของศัตรูพืช เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด

ที่มา : กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร