กรมส่งเสริมการเกษตร เชิญชวนผู้สนใจดื่มชาไทยเพื่อสุขภาพ อุดหนุนสินค้ากลุ่มเกษตรกรโดยตรง

                นายอาชว์ชัยชาญ  เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในประเทศไทย เกษตรกรนิยมปลูกชา 2 สายพันธุ์หลัก คือ “ชาไทย” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ชาสายพันธุ์อัสสัม เป็นชาพื้นเมืองดั้งเดิมของไทยที่เติบโตได้ดีภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ป่าไม่ผลัดใบ ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำหลายสายในประเทศ ตามภูเขาสูงในแถบภาคเหนือ และชาสายพันธุ์จีนที่นำเข้ามาจากประเทศไต้หวันและจีน แล้วนำมาปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะกับการปลูกในประเทศไทย เช่น พันธุ์อู่หลงเบอร์ 17 หรือ อู่หลงก้านอ่อน อู่หลงเบอร์ 12 หรือชิงซินอู่หลง พันธุ์สี่ฤดู พันธุ์ถิกวนอิม เป็นต้น ซึ่งการดื่มชามีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ อย่างเช่น “ชาร้อน” จะช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรค ป้องกันโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ป้องกันฟันผุ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ช่วยผ่อนคลายระบบประสาท ทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย กระปรี้กะเปร่า ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่มักนิยมดื่มชาในลักษณะของชาไข่มุก หรือชาเย็น เพื่อความสดชื่น เนื่องจากสภาพอากาศร้อนเกือบตลอดทั้งปี

                อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของชายังขึ้นอยู่กับประเภทของชาตามกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันด้วย แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) ชาขาว (white tea) เป็นชาที่ได้จากช่อใหม่ของต้นชาหรือยอดชาอ่อน และผ่านกระบวนการผลิตโดยใช้ความร้อนน้อยที่สุดจึงทำให้คุณค่าทางโภชนาการและศักยภาพในการต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับชาชนิดอื่นๆ 2) ชาเขียว (green tea) เป็นชาที่ไม่ผ่านการหมัก เมื่อเก็บยอดใบชาสดมาแล้วจะนำมาคั่วหรือนึ่ง เพื่อให้ความร้อนทำลายเอนไซม์พอลิฟีนอลออกซิเดส หยุดปฏิกิริยาการหมัก แล้วนำมานวดใช้น้ำหนักกดทับลงใบชา ทำให้สารประกอบต่าง ๆ ที่อยู่ในเซลล์ไหลออกมาเคลือบอยู่บนส่วนต่างๆ ของใบชา แล้วจึงอบแห้งและคัดบรรจุห่อ 3) ชาอู่หลง (red tea หรือ oolong tea) เป็นชาที่หมักบางส่วน เมื่อเก็บยอดใบชาสดมาแล้วจะนำมาผึ่งแดดให้น้ำในใบชาระเหยไป เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและปฏิกิริยาเคมีของสารต่างๆ  ในใบชา ทำให้ชามีสี กลิ่น และรสชาติที่แตกต่างกันไป จากนั้นนำมาผึ่งต่อในที่ร่ม แล้วนำมานวดให้สารประกอบในเซลล์ไหลออกมาเคลือบอยู่บนใบชา ต่อด้วยการนำใบชามาคั่ว แล้วจึงอบแห้งและคัดบรรจุห่อ และ 4) ชาดำหรือชาฝรั่ง (black tea) เป็นชาหมักอย่างสมบูรณ์ เมื่อเก็บยอดใบชาสดมาแล้วจะนำมาผึ่งแดดให้น้ำในใบชาระเหยไป เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและปฏิกิริยาเคมีของสารต่าง ๆ ในใบชา นำมานวดแล้วหมัก จากนั้นจึงอบแห้งและคัดบรรจุห่อ ระดับการหมักที่ต่างกันทำให้ชาแต่ละชนิดมีองค์ประกอบทางเคมีที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ชามีสี กลิ่น และรสชาติที่แตกต่างกัน

                รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขับเคลื่อนและดำเนินงานโครงการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการปลูกชาในประเทศไทย มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2553 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ น่าน และเชียงราย เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ เห็นคุณค่าและคุณประโยชน์ จาก “ชาไทย” หรือชาอัสสัม อันจะส่งเสริมให้เกิดความรัก หวงแหนและบำรุงรักษาป่าในประเทศไทย ซึ่งเป็นร่มเงาให้ “ชาไทย” หรือชาอัสสัมเติบโตอย่างมีคุณภาพ

                ทั้งนี้ ผู้สนใจ อุดหนุนชาคุณภาพประเภทต่าง ๆ สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ จังหวัดเชียงใหม่ วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกชาและกาแฟบ้านปางมะโอ โทร. 06 2263 5491 จังหวัดน่าน วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ชา และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศศรีนาป่าน/ ตาแวน โทร. 08 7174 4419 จังหวัดเชียงราย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตชาแม่ลอย โทร. 09 3261 2629 วิสาหกิจชุมชนชาเมื่ยงโจ้โก้/ตับเต่าโทร. 09 3225 0258 วิสาหกิจชุมชนแปรรูปชาปางต้นผึ้ง โทร. 09 3224 7869 หรือเลือกซื้อสินค้าเกษตรเกรดพรีเมียมหลากหลายชนิดฝีมือของเกษตรกรจากทั่วประเทศได้ทาง www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com

*************************

“ตลาดเกษตรกรออนไลน์ เพียงคุณสั่ง เราพร้อมส่ง”

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : นาฏสรวง ข่าว / พฤษภาคม 2563

ข้อมูล: กองส่งเสริมโครงการพระราชดำริ การจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร