กรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เดินหน้าขับเคลื่อนการผลิตทุเรียนคุณภาพ เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งระบบ

นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชื่อมโยงเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ณ โรงแรม ลอฟท์ มาเนีย อ.เมือง จ.ชุมพร ว่า “ทุเรียน” ถือเป็นราชาแห่งผลไม้เขตร้อนที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่ดีที่สุดของโลก เนื่องจากมีสภาพภูมิศาสตร์เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต มีสายพันธุ์ทุเรียนที่ดี ตลอดจนเกษตรกรมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรได้อย่างเหมาะสม ทำให้สามารถบริหารจัดการสวนทุเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพดี รสชาติเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เป็นผลไม้เศรษฐกิจหลักอันดับ 1 ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงสุด ซึ่งยืนยันได้จากปริมาณผลผลิตทุเรียนสดส่งออกไปต่างประเทศ โดยในปี 2562 ประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศ จำนวน 655,346 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกทุเรียนผลสดกว่า 45,000 ล้านบาท

สำหรับสถานการณ์การผลิตทุเรียนในภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของประเทศไทย ลำดับที่ 2 รองจากภาคตะวันออก มีพื้นที่ปลูก 571,373 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 437,995 ไร่ มีแปลงใหญ่ทุเรียน 75 แปลง เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ 3,452 ราย และกรมส่งเสริมการเกษตรได้คาดการณ์ว่าปี 2563 จะมีปริมาณผลผลิตทุเรียนจากภาคใต้ออกสู่ตลาดรวม 588,337 ตัน ซึ่งขณะนี้มีผลผลิตตามฤดูกาลออกสู่ตลาดแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 โดยมีการกระจายผลผลิตไปยังผู้บริโภคภายในประเทศ และต่างประเทศที่สำคัญคือ การส่งออกทุเรียนผลสดไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของทุเรียน ด้วยวิธีการกระจายผลผลิตผ่านผู้ประกอบการ (ล้ง) ซึ่ง จ.ชุมพร นับเป็นตลาดสำคัญ เนื่องจากมีล้งรับซื้อทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ นอกจากนี้ ยังกระจายผลผลิตผ่านวิสาหกิจชุมชน ศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชน สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร Modern Trade ไปรษณีย์ ตลาดออนไลน์ ตลาดค้าผลไม้ภายในจังหวัด การจำหน่ายตรงให้แก่ผู้บริโภค และการจัดงานประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการแปรรูปด้วยวิธีแช่แข็ง อบแห้ง กวน และทอด

                กรมส่งเสริมการเกษตรได้เล็งเห็นความสำคัญของทุเรียน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการขยายพื้นที่ปลูก จึงได้ร่วมกับเครือข่ายแปลงใหญ่ผู้ปลูกทุเรียน จัดตั้งเป็นสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนแห่งประเทศไทย ในปี 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน และให้สมาพันธ์สามารถบริหารจัดการผลิตทุเรียนตลอดห่วงโซ่ เพื่อให้ผลผลิตมีความสมดุลกับความต้องการของตลาด สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนระดับภาคมีทั้งหมด 6 ภาค ตามเขตของกรมส่งเสริมการเกษตร

                สำหรับภาคใต้ปัจจุบันมี นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล เป็นนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ มีคณะกรรมการรวม 20 คน มีสมาชิก 3,400 ราย 1 ปีที่ผ่านมา สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ได้จัดทำระเบียบสมาพันธ์ และอยู่ระหว่างเตรียมการจัดตั้งเป็นสมาคมชาวสวนทุเรียน รวมทั้งได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ถ่ายทอดความรู้การผลิตทุเรียนคุณภาพแก่สมาชิก และพัฒนาเกษตรกรต้นแบบในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต การเชื่อมโยงตลาดกับลูกค้า และในอนาคตมีแผนขยายผลการลดต้นทุนให้ครอบคลุมสมาชิก ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสมาชิกสมาพันธ์มีความเสมอภาคในการรับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน

ดังนั้น การสัมมนาเชื่อมโยงเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร และสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ จึงได้จัดขึ้นเพื่อให้เครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางส่งเสริมการผลิตทุเรียนคุณภาพ ทั้งนี้ กิจกรรมในงานประกอบด้วย การเสวนาเรื่อง อนาคตทุเรียนไทย จากคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ การเสวนาเรื่อง แนวทางส่งเสริมการผลิตทุเรียนคุณภาพ จากสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ การแสดงนิทรรศการทางวิชาการ และผลงานของสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ รวมทั้งแปลงใหญ่ทุเรียนของ จ.ชุมพร และการออกบูทนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสวนทุเรียนจากภาคเอกชน รวมถึงกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ของเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนภาคใต้ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมการสัมมนาจาก 14 จังหวัดภาคใต้ รวม 400 คน เพื่อมุ่งหวังให้เครือข่ายเกษตรกรมีความมั่นคง และยั่งยืนในการประกอบอาชีพทำสวนทุเรียน

                ขณะนี้สถานการณ์การส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนยังมีความต้องการเป็นจำนวนมาก และไทยยังส่งออกเป็นอันดับ 1 แต่การเพิ่มขึ้นของพื้นที่การปลูกทุเรียนทั้งในประเทศ และเพื่อนบ้านเกิดการแข่งขันมาก ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพจึงสำคัญมาก เป็นตัวกำหนดทิศทางอนาคตของทุเรียนไทย

นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ และนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยคนแรก กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในอนาคตของสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา และสำนักงานเกษตรจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ โดยจะขยายจำนวนสมาชิกให้ครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ และจะร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือ

ต้นน้ำ ส่งเสริมแนวคิดการสร้างจรรยาบรรณวิชาชีพของสมาชิก การวางแผนการผลิตเพื่อตอบโจทย์การตลาด (แผนธุรกิจการเกษตร) ส่งเสริมการเรียนรู้ปัจจัยพื้นฐานการผลิต ได้แก่ พฤติกรรมของพืช/จุดวิกฤตทุเรียน เทคโนโลยี/ปัจจัยการผลิตทั้งเคมีเกษตรและสารชีวภัณฑ์ การเรียนรู้ภูมิประเทศและภูมิอากาศ การจัดการแรงงานภาคการผลิต การเรียนรู้กระบวนการผลิตทุเรียนคุณภาพ ทั้งในฤดูและนอกฤดูกาลผลิตอย่างยั่งยืน ตลอดจนระบบการผลิตภายใต้มาตรฐาน GAP ทุเรียน การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชน เกษตรกรในการพัฒนาทุเรียนคุณภาพ ส่งเสริมการจัดการทุเรียนคุณภาพโดยแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ทำหลักสูตรการจัดการทุเรียนคุณภาพที่ยั่งยืน (โรงเรียนทุเรียน) การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่เกษตรกร

กลางน้ำ ส่งเสริมการจัดทำฐานข้อมูลแปลงใหญ่ สมาชิกสมาพันธ์เชิงประจักษ์ การสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเครือข่ายสมาชิกสมาพันธ์ ส่งเสริมแนวคิดการบริหารจัดการกลุ่ม/องค์กรชาวสวนทุเรียน โดยใช้หลักธรรมาภิบาล
การมีวินัยทางการเงิน การบริหารจัดการต้นทุนการผลิต ได้แก่ การบริหารจัดการปัจจัยการผลิตในแปลงปลูก การรวมกลุ่มจัดหาปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต การจัดการปุ๋ยผสมตามความต้องการของต้นทุเรียนเพื่อใช้ให้เหมาะสมต่อช่วงการพัฒนาและเจริญเติบโตของผลทุเรียน และส่งเสริมการเข้าถึงเงินทุนและการบริหารเงินทุนในฤดูกาลผลิต ทั้งในรูปแบบบุคคลและรูปแบบกลุ่ม

ปลายน้ำ ส่งเสริมการจำหน่ายในรูปแบบออนไลน์ หรือการส่งผลผลิตให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง การจำหน่ายสินค้าแปรรูปจากทุเรียนไปยังพื้นที่ต่างๆ การประชาสัมพันธ์ทุเรียนอัตลักษณ์จากจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายตลาด การนำทุเรียนคุณภาพเข้าจำหน่ายใน Modern trade เป็นต้น

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร คาดหวังว่า จากแนวทางการยกระดับสมาชิกเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพทุเรียนจะเกิดผลสัมฤทธิ์ คือ เกษตรกรชาวสวนทุเรียนมีการรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นทางการ มีการบริหารจัดการเพื่อให้ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ มีการทำแผนธุรกิจทุเรียน ร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิต การเพิ่มช่องทางการตลาด การเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต จัดหาตลาดซื้อขายที่แน่นอน มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญามาปรับใช้ในแปลงปลูก การใช้เครื่องทุ่นแรง (เครื่องจักร เครื่องมือ) เพื่อลดการใช้แรงงาน รวมทั้งมีการบริหารจัดการเงินทุนและทรัพยากรของกลุ่ม เพื่อความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนของกลุ่มต่อไป                                                                        

*******************************

อัจฉรา : บทความ, กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา : ข้อมูล

กรมส่งเสริมการเกษตร, กรกฎาคม 2563