นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ครั้งที่ 6/2563 (วันที่ 13 สิงหาคม 2563) ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีความเป็นห่วงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ผลผลิตลำไยภาคเหนือและภาคตะวันออกในปีนี้มีการเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เนื่องมาจากสภาพอากาศที่ร้อนผิดปกติอุณหภูมิสูงอย่างต่อเนื่องสลับกับอากาศที่หนาวเย็นฉับพลันในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนลำไยหลายประการ ประกอบด้วย 1) ธุรกิจการนำเข้าลำไยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนชะลอตัวลง จากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการปลูกลำไยในประเทศมากขึ้นจากเดิม 2 ล้านไร่เป็น 10 ล้านไร่ในปัจจุบัน และยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 2) การขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่เป็นแรงงานฝีมือเฉพาะในการเก็บเกี่ยว คัดแยก บรรจุหีบห่อ ทำให้เกษตรกรต้องจ้างแรงงานในประเทศมาทดแทนซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง 3) การคมนาคมขนส่งทางบกหรือทางน้ำในเส้นทางปกติยังมีค่าใช้จ่ายเท่าเดิม และใช้เวลาในการขนส่งนานเพราะด่านการค้าชายแดนเพิ่งเริ่มผ่อนคลาย ในขณะที่ลำไยเริ่มสุกแก่เต็มที่ เกษตรกรต้องเร่งระบายผลผลิต และ 4) ผู้ประกอบการชาวจีนซึ่งเป็นตลาดรับซื้อลำไยอันดับ 1 ยังไม่สามารถเดินทางมาซื้อขายลำไยได้โดยสะดวก หรือมีการค้าล่วงหน้าเพื่อประกันความเสี่ยงให้แก่เกษตรกรได้เหมือนอย่างเช่นฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา เห็นได้ว่าลำไยเป็นไม้ผลที่ลักษณะการบริหารจัดการแบบจำเพาะแตกต่างจากไม้ผลชนิดอื่น

จากสถานการณ์ดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไยให้สามารถฟื้นฟูการผลิตลำไยที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านการผลิตและการตลาด รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีแนวทางปฏิบัติต่อสวนลำไยเพื่อประกอบอาชีพชาวสวนลำไยได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2562/2563 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรทุกครัวเรือน โดยให้ความช่วยเหลือในอัตราไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ และเป็นพื้นที่ลำไยที่ให้ผลผลิตแล้ว (อายุต้นลำไยตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป)

ด้านนายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เบื้องต้นกรมส่งเสริมการเกษตรได้สำรวจข้อมูลเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2562/2563 โดยใช้ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรชาวสวนลำไยทั้งหมด ณ วันที่ 30 เมษายน 2563 พบว่า มีครัวเรือนเกษตรกรชาวสวนลำไยทั้งประเทศทั้งสิ้นประมาณ 128,099 ครัวเรือน เนื้อที่ปลูก 871,716 ไร่ ทั้งนี้ มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรแล้วประมาณร้อยละ 80 ยังเหลืออีกร้อยละ 20 ซึ่งจะเร่งสำรวจข้อมูลให้เป็นปัจจุบันพร้อมทั้งดำเนินการสรุปและส่งข้อมูลเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2562/63 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรทุกครัวเรือน ส่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่ เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกร ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประชาสัมพันธ์โครงการ รวมทั้งชี้แจงให้เกษตรกรทราบ โดยผู้มีสิทธิ์ต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนลำไยที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรปี 2562/63 กับกรมส่งเสริมการเกษตรภายในวันที่ 15 กันยายน 2563 ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม 2563 คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นเป็นเงิน 3,440,049,726 บาท ก่อนเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

            สำหรับสถานการณ์การผลิตด้านปริมาณ (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มิ.ย. – 11 ส.ค. 2563) ข้อมูลประมาณการผลผลิตลำไยในฤดูทั้งหมด 386,065 ตัน แบ่งเป็น ลำไยสดช่อ จำนวน 99,890 ตัน ลำไยรูดร่วง จำนวน 286,175 ตัน เก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยในฤดูแล้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ส.ค. 2563) จำนวน 238,393.55 ตัน คิดเป็นร้อยละ 61.75 แบ่งเป็น ลำไยสดช่อ 75,713.75 ตัน หรือร้อยละ 31.76 และลำไยรูดร่วง 162,679.80 ตัน หรือร้อยละ 68.24 โดยราคาลำไยสดช่อ เกรด AA อยู่ที่ 31 บาท/กิโลกรัม เกรด A ราคา 24.88 บาท/กิโลกรัม เกรด B ราคา 20.77 บาท/กิโลกรัม เกรด C ราคา 7.94 บาท/กิโลกรัม และเกรด AA+A เกรดคละรวมอยู่ที่ 26.89 และ 18.15 บาท/กิโลกรัม ส่วนราคาลำไยรูดร่วง เกรด AA อยู่ที่ 17.72 บาท/กิโลกรัม เกรด A ราคา 10.69 บาท/กิโลกรัม เกรด B ราคา 4.78 บาท/กิโลกรัม และเกรด C ราคา 1 บาท/กิโลกรัม

            ทั้งนี้ จากผลการสำรวจข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกลำไยทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อปี 2562 พบว่า ขนาดพื้นที่ปลูกลำไยน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ไร่ มีจำนวน 121,475.71 ครัวเรือน (ร้อยละ 61.77) พื้นที่ปลูกมากกว่า 5 – 10 ไร่ จำนวน 41,236.47 ครัวเรือน (ร้อยละ 20.97) พื้นที่ปลูกมากกว่า 10 – 15 ไร่ จำนวน 15,252.01 ครัวเรือน (ร้อยละ 7.76) พื้นที่ปลูกมากกว่า 15 – 20 ไร่ จำนวน 7,640.59 ครัวเรือน (ร้อยละ 3.89) พื้นที่ปลูกมากกว่า 20 – 25 ไร่ จำนวน 3,682.90 ครัวเรือน (ร้อยละ 1.87) และพื้นที่ปลูกมากกว่า 25 ไร่ จำนวน 7,367.33 ครัวเรือน (ร้อยละ 3.75)

****************************

อัจฉรา : ข่าว

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร

สิงหาคม 2563