กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำพันธุ์สับปะรดผลสด MD2 เป็นที่ต้องการของตลาด รสชาติหวาน กลิ่นหอม เนื้อตันแน่นและไม่เป็นโพร มีวิตามินซีสูงกว่าสับปะรดพันธุ์อื่นถึง 4 เท่า โดยส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ต้นกล้าพันธุ์ดีจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพื้นที่ปลูกให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แทนสับปะรดโรงงาน

นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นแหล่งเพาะปลูกสับปะรดแหล่งใหญ่ที่สำคัญของประเทศไทยมีผลผลิตสับปะรด 888,667 ตันคิดเป็นร้อยละ 37.84 ของผลผลิตสับปะรดทั้งประเทศ โดยพันธุ์สับปะรดที่เกษตรกรนิยมปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ปัตตาเวียเพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อมีผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นปริมาณมาก เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงมักประสบกับปัญหาสับปะรดโรงงานล้นตลาด และราคารับซื้อที่ตกต่ำอยู่เสมอ

กรมส่งเสริมการเกษตรจึงส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่ผ่านการคัดเลือกตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์รวม 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองหัวหิน ปราณบุรี ทับสะแก กุยบุรี สามร้อยยอดบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย ให้ปรับเปลี่ยนสายพันธุ์และรูปแบบการผลิตจากการปลูกสับปะรดเพื่อส่งโรงงานมาเป็นสับปะรดรับประทานผลสดพันธุ์ MD2 เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยสับปะรดพันธุ์ MD2 ได้รับการพัฒนาพันธุ์มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมากมีคุณสมบัติที่โดดเด่นคือ รสชาติที่หวาน มีกลิ่นหอม เฉพาะตัวเนื้อมีสีเหลืองเข้ม เนื้อตันแน่น และไม่เป็นโพรง น้ำหนักผลโดยเฉลี่ย 1.7-1.8 กิโลกรัม และมีวิตามินซีสูงกว่าสับปะรดพันธุ์อื่นถึง 4 เท่า ที่สำคัญเมื่อทานแล้วไม่กัดลิ้น เมื่อสุกแก่ผิวเปลือกจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองทองทั้งผล

กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ต้นกล้าพันธุ์ดีจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพื้นที่ปลูกให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากสับปะรดสายพันธุ์นี้ค่อนข้างหวงหน่อคือให้หน่อเฉลี่ยเพียง 1.5 หน่อเท่านั้น ทำให้การขยายพื้นที่ปลูกโดยใช้หน่อพันธุ์ตามธรรมชาติไม่เพียงพอต่อความต้องการรวมทั้งเพื่อป้องกันการระบาดของโรคเหี่ยว ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่มักพบแฝงมากับหน่อพันธุ์ที่เกษตรกรใช้ปลูกมีเป้าหมายในการผลิตต้นพันธุ์สับปะรดผลสด MD2 จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจำนวนทั้งสิ้น 600,000 ต้นสนับสนุนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์รวม 8 อำเภอ รองรับพื้นที่ปลูกเพื่อจัดทำแปลงพันธุ์สับปะรด MD2 พันธุ์ดี ในพื้นที่ได้ จำนวน 100 ไร่ (100 แปลง) นำไปปลูกเป็นทางเลือกในการเพิ่มช่องทางการตลาดและเพิ่มมูลค่าภาคการเกษตร รวมถึงการใช้เทคโนโลยีระบบ bioreactor (ไบโอรีแอคเตอร์) มาช่วยในการผลิต ซึ่งสามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ได้ 1 ต่อ 1000 เท่า ในระยะเวลา 6-7เดือน เทียบกับการขยายพันธุ์จากหน่อธรรมดาจะได้ 1 ต่อ 3 – 4 เท่า ภายในระยะเวลา 1 เดือน หากเกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปสนใจสามารถมารับชมเทคโนโลยีระบบ bioreactor (ไบโอรีแอคเตอร์) ในการขยายพันธุ์สับปะรดผลสด MD2 ได้ในงานเกษตรสร้างชาติ ครั้งที่ 2 วันที่ 27 – 30 สิงหาคม 2563 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ฮอลล์ 9 – 10 อิมแพ็คเมืองทองธานี