(15 ธ.ค. 63) นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังการเปิดงานกิจกรรมการจัดกระบวนการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ปี 2564 ณ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. สุโขทัย จำกัด ต.ทับผึ้ง อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ว่า จ.สุโขทัย มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเป็นจำนวนมาก และยังเป็นแหล่งผลิตใบยาสูบหลักของประเทศไทย ในปี ในปี 2563/64 ได้รับโควตาการผลิตใบยาสูบเพียง 11 ล้านกิโลกรัม ทำให้ต้องพื้นที่การผลิตใบยาสูบลดลง 5,000 ไร่ ประกอบกับมีนโยบายลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังทางสำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัยร่วมกับสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. สุโขทัย จำกัด ดำเนินการส่งเสริมปลูกพืชเพื่อทดแทนพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังและพื้นที่การปลูกยาสูบ จำนวน 2 พืช ได้แก่ข้าวโพดหวาน จำนวน 5,000 ไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา 1,000 ไร่ รวมทั้งได้จัดทำแปลงสาธิตการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ผลิตส่งให้บริษัทเอกชน

          อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยพืชหนึ่ง พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 6.50 ล้านไร่ ผลผลิตร้อยละ 95 ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์เพื่อการบริโภคของประชากรภายในประเทศ และการส่งออก คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี ปัจจุบันการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยยังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ สามารภผลิตได้เพียงปีละ 4.5 – 5 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 6 – 8 ล้านตันต่อปี และมีแนวโน้มขยายตัวตามปริมาณการเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่เพาะปลูกโดยอาศัยน้ำฝน ทำให้เกิดปัญหาผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต้นฝนออกสู่ตลาดมากเกินกำลังการรับซื้อของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในช่วงดังกล่าว และมักประสบปัญหาความแปรปรวนของฝนจากอิทธิพลของสภาวะโลกร้อน ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ อีกทั้งผลผลิตมีความชื้นสูงเพราะเก็บเกี่ยวในช่วงฝนตกชุก กรมส่งเสริมการเกษตร จึงมุ่งเน้นให้เพิ่มพื้นที่ปลูกทดแทนในพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา เพื่อให้มีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนอกจากแก้ปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน แล้วยังช่วยลดปริมาณการผลิตข้าวซึ่งมีปัญหา ผลผลิตเกินความต้องการ ตามมาตรการลดรอบการปลูกข้าวเพื่อปลูกพืชหมุนเวียนด้วย

          นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรม สาธิตการหยอดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แนะนำการผสมปุ๋ยใช้เองเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต แนะนำการป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall armywarm) การผลิตและขยายพันธุ์แมลงหางหนีบเพื่อควบคุมหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด วิธีกำจัดผีเสื้อกลางคืน และแนะนำการผลิตและขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราเมตาไรเซียม และเชื้อราบิวเวอเรีย